เผลอประเดี๋ยวเดียว ปี 2022 ก็เดินทางเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว ซึ่งปกติในช่วงปลายปีก็จะเป็นช่วงที่มนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คนมักจะเริ่มวางแผนเรื่องหน้าที่การงานของตัวเองใหม่ บางคนยังคงทำงานที่เดิม เพิ่มเติมคือตำแหน่งงานใหม่ ก็จำเป็นต้องอัปสกิลตนเองเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นและหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ ๆ
ในขณะที่อีกหลายคนอาจเตรียมเปลี่ยนงานใหม่ในช่วงต้นปีหน้า ก็ต้องวางแผนที่จะอัปสกิลตัวเองเพิ่มเติมอีกเช่นกัน เป้าหมายคือเพิ่มสกิลลงในเรซูเม่ให้ดูน่าสนใจ เพิ่มโอกาสในการได้งานใหม่ตามที่ต้องการ
อย่างไรก็ดี การอัปสกิลนั้นก็จำเป็นต้องอัปให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานด้วย กล่าวคือ ต้องเป็นทักษะหลัก ๆ ในการทำงานที่ผู้ว่าจ้างมักจะมองหาในตัวผู้สมัครงาน หากเรามีทักษะต่าง ๆ ที่ตรงตามที่องค์กรส่วนใหญ่ต้องการ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เราได้รับการพิจารณาเรซูเม่ ผ่านเข้าสู่รอบต่อไป และมีโอกาสที่จะได้งานนั้นมากขึ้น
LinkedIn เป็นเครือข่ายสื่อกลางด้านอาชีพและธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีฐานข้อมูลที่ใช้สำหรับหางานและจ้างงาน ระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้ถูกจ้าง สำหรับคนที่กำลังหางานสามารถสมัครใช้งาน สร้างข้อมูลส่วนตัวที่ลงรายละเอียดด้านการศึกษา ประสบการณ์ รวมไปถึงความถนัดเฉพาะตัวเช่นเดียวกันกับเรซูเม่ เพื่อให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทต่าง ๆ ที่กำลังมองหาพนักงานเข้ามาดู เป็นตัวช่วยให้องค์กรตามหาคนและให้คนตามหางาน โดย LinkedIn ได้เผยทักษะที่องค์กรมองหาในตัวพนักงานมากที่สุด 20 ทักษะ โดยเปรียบเทียบกับทักษะที่มืออาชีพมีในปี 2015 และทักษะพนักงานที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกันในปัจจุบัน ทำให้สามารถใช้เป็นแนวทางในการอัปสกิลได้
มาดูกันว่า 20 ทักษะที่ LinkedIn เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อใครก็ตามที่กำลังมองหางาน หรือกำลังวางแผนที่จะเพิ่มทักษะการทำงานให้กับตัวเอง เพื่อโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แบ่งเป็น
Soft Skills
1. ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership) ทักษะที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นระดับหัวหน้างานเท่านั้นที่ต้องมี ในระดับปฏิบัติงานก็จำเป็นต้องมีทักษะความเป็นผู้นำเช่นกัน เพราะทัศนคติและพฤติกรรมแบบผู้นำจะเกี่ยวข้องกับการบริหารงานให้สำเร็จ มีเรื่องของการตัดสินใจที่จะส่งผลต่อประสิทธิผลขององค์กร การสร้างอิทธิพลให้กับทีมงานให้ทำตามแผนงานจนบรรลุเป้าหมาย ทั้งยังต้องมีทักษะในการจัดการคน เช่น การสื่อสาร การเห็นอกเห็นใจ นำไปสู่แรงบันดาลใจในการทำงาน
2. ทักษะการสื่อสาร (Communication) ปัญหาในการทำงาน บ่อยครั้งจุดเริ่มต้นมาจากการที่สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง สื่อสารบกพร่อง ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สัมฤทธิ์ผล จนนำไปสู่การปฏิบัติตามแบบที่เข้าใจผิด ๆ ถูก ๆ เสียเวลา เสียความรู้สึก และอาจมีปัญหาการผิดใจกันในทีมด้วย
3. ทักษะในการแก้ปัญหา (Problem Solving) ไม่ว่าจะทำอะไร ปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องการการแก้ไขแบบปัจจุบันทันด่วน จึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เลิกลังเล เพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ภายใต้ความสงบเรียบร้อย
4. ทักษะในการจัดการ (Management) การจัดการมีความสำคัญอย่างไร มันเป็นการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดำเนินไปในแนวทางที่จะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ คนที่จะเป็นผู้จัดการจะต้องรู้ว่าผู้จัดการที่ดีนั้นต้องเป็นอย่างไร บริหารงานอย่างไรให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อใจและนับถือ
5. ทักษะการบริหารเวลา (Time Management) เพราะการทำงานในแต่ละวัน เราต่างมีหน้าที่ที่ต้องทำหลายอย่าง การบริหารเวลาไม่เป็นจะมีผลต่อการทำงานที่ไม่เสร็จตรงตามเวลา การทำงานที่จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น ดังนั้น การบริหารเวลาจะช่วยให้เราใช้เวลาทุกวินาทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีเวลาว่างให้ได้พักผ่อนมากขึ้นด้วย
6. ทักษะในการวางกลยุทธ์ (Strategy) การวางแผนเชิงกลยุทธ์ เป็นการวางแผนที่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ มีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่แน่ชัด มีการวิเคราะห์อนาคตและคิดเชิงการแข่งขัน ที่ต้องการระบบการทำงานที่มีความสามารถ เมื่อนำมาใช้ในการทำงาน จะมีประโยชน์ต่อการทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นระบบการทำงานที่คล่องตัว มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงในการมุ่งสู่เป้าหมาย เพื่อให้สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อยู่รอดได้
Hard Skills
1. ทักษะการบริการลูกค้า (Customer Service) เป็นทักษะที่จำเป็นต้องฝึกปรือให้เชี่ยวชาญสำหรับตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการลูกค้า เนื่องจากเป็นงานด่านหน้าที่ต้องรับมือกับอารมณ์ของลูกค้าโดยตรง ต้องมีทักษะในการพูดคุยกับผู้คน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การรับมือลูกค้าอารมณ์ร้อน ด้วยจิตใจที่รักในงานบริการ
2. ทักษะการขาย (Sales) จุดประสงค์คือต้องปิดการขายให้ได้ ต้องเข้าใจในสิ่งที่เสนอขาย ต้องเข้าใจปัญหาของลูกค้า เพราลูกค้าคือผู้ที่จะนำเงินมาให้ ต้องโน้มน้าวใจได้ เพื่อจูงใจให้ลูกค้าตกลงซื้อและยอมจ่ายด้วยความเต็มใจ
3. ทักษะการทำบัญชี (Accounting) กรณีที่บางองค์กรจ้าง outsource ภายนอกที่รับหน้าที่ทำบัญชีโดยเฉพาะ เพื่อจัดการบัญชีขององค์กรอย่างเป็นระบบแบบมืออาชีพ ไม่ได้มีแผนกบัญชีภายในองค์กร อย่างไรก็ดี ภายในจะต้องมีคนที่ทำหน้าที่บันทึกการทำธุรกรรมทางการเงินเบื้องต้น เพื่อรวบรวมข้อมูลทางบัญชีส่งให้กับบริษัทรับทำบัญชีจัดการอีกที ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีทักษะในการทำบัญชีเบื้องต้น การซื้อ การขาย รายรับ-รายจ่าย เป็นต้น
4. ทักษะการพัฒนาธุรกิจ (Business Development) คือการมีทักษะด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการทำงานได้อย่างชาญฉลาด การสร้างทีม การกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้สามารถนำแผนงานต่าง ๆ มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
5. ทักษะด้านการตลาด (Marketing) นับเป็นทักษะที่สำคัญในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการ ทำให้ธุรกิจมีรายได้ มีกำไร รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ
6. ทักษะการตลาดออนไลน์ (Digital Marketing) ออนไลน์ไม่ใช่ช่องทางใหม่ที่ธุรกิจใช้สื่อสารกับผู้บริโภต แต่กลายเป็นอีกช่องทางหลักที่เพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วขึ้นในยุคที่ผู้คนมีโลกเสมือนบนออนไลน์กันถ้วนหน้า จึงต้องทำการตลาดบนออนไลน์ด้วยการใช้สื่อออนไลน์และใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออื่น ๆ ประโยชน์รวมถึงการซื้อโฆษณา
7. ทักษะการบริหารการขาย (Sales Management) การขายในระดับที่มีเป้าหมายสู่การเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ที่สามารถสรรหา ฝึกอบรม รักษา และจัดการทีมขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังรวมถึงวิธีในการจูงใจพนักงานขายและทีมงานให้ทำยอดขายให้ได้ตามเป้าที่ต้องการ
8. ทักษะด้านการเงิน (Finance) การเงินเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนเรามากกว่าที่คิด เพราะทุกคนจำเป็นต้องบริหารเงินของตัวเองอยู่แล้วแทบทั้งสิ้น การวางแผนทางการเงิน การออม เป็นเรื่องทางการเงิน ๆ ง่ายที่ทุกคนควรรู้
9. ทักษะการใช้สื่อออนไลน์ (Social Media) สื่อออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภคอย่างมากในโลกยุคปัจจุบัน หลัก ๆ คือพื้นฐานของการตลาดบนสื่อออนไลน์ รวมถึงการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งต้องรู้ว่าโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องสื่อสารให้ต่างกัน
10. ทักษะการขายและการตลาด (Sales & Marketing) การขายดำเนินควบคู่มากับการทำการตลาด เพราะการทำการตลาดที่ดีเป็นโอกาสทองสำหรับการขายสินค้าและบริการที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน จึงต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การนำเสนอสินค้าและบริการ การสร้างการรับรู้แบรนด์ การตั้งราคา การทำโปรโมชัน กลยุทธ์การขายที่เหมาะกับตลาดและกลุ่มลูกค้า
11. ทักษะการวิเคราะห์การเงิน (Financial Analysis) คือการนำข้อมูลทางการเงินมาวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของธุรกิจ ผลลัพธ์ที่ได้สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจทางด้านงบการเงินขององค์กร มีผลต่ออนาคตขององค์กรได้เลย
12. ทักษะทางวิศวกรรม (Engineering) เป็นการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ วิศวกรรมมีหลายสาขาด้วยกัน แต่หลัก ๆ แล้วมีความเกี่ยวข้องในเรื่องของวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ การคำนวณ เช่น หลาย ๆ องค์กรจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ที่มีทักษะในการเขียนโปรแกรมได้ หรือบุคคลที่สามารถควบคุมเครื่องจักร
13. ทักษะการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ (Social Media Marketing) การทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นการทำการตลาดที่ได้ผลเร็ว เข้าถึงผู้คนได้ง่าย อย่างไรก็ดี ต้องทำความรู้จักความแตกต่างของโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อที่จะเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
14. ทักษะการเขียน SQLหรือ Structured Query Language เป็นภาษามาตรฐานสำหรับการสร้างและจัดการฐานข้อมูล มีความสำคัญต่อธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล