ขนมสี่ถ้วย หรือ กินสี่ถ้วย เป็นขนมโบราณที่นิยมกินในงานมงคลเมื่อสมัยก่อน สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ในแผ่นดินพระร่วง หรือ สมัยสุโขทัย โดยแต่เดิมที่จะมีการนับถือพระพุทธศาสนา มีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีการแต่งงาน การเลี้ยงผีบรรพบุรุษของ 2 ตระกูล ด้วยการเซ่นไหว้ 4 อย่าง หรือ 4 เตียบ เพื่อแสดงถึงการเป็นทองแผ่นเดียวกันโดยสมบูรณ์ เรียกประเพณีนี้ว่า “กินสี่ถ้วย” และสืบทอดต่อ ๆ กันมา จนกระทั่งในสมัยอยุธยา การกินขนมสี่ถ้วยก็ค่อย ๆ ลดความเชื่อนี้ลงไป แต่ยังคงมีการกินขนมนี้เพื่อความอร่อยเท่านั้น
ขนมสี่ถ้วยมีอะไรบ้าง
ขนมสี่ถ้วย ประกอบไปด้วย ไข่กบ นกปล่อย นางลอย อ้ายตื้อ โดยมีความหมายที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- ขนมไข่กบ คือ เม็ดแมงลัก หมายถึง มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง
- ขนมนกปล่อย คือ ลอดช่องแป้งผสมกับน้ำใบเตย หมายถึง ความรักราบรื่น ไร้อุปสรรคขัดขวาง
- ขนมนางลอย คือ ข้าวตอก หมายถึง ความรักที่อยู่ในกรอบประเพณี เข้าตามตรอกออกตามประตูอย่างถูกต้อง เหมือนกับการคั่วข้าวตอกในโคม ไม่มีกระเด็นกระดอนออกไปที่ใด หรือสื่อถึง ความรักเฟื่องฟู ก็ได้เช่นกัน
- ขนมอ้ายตื้อ คือ ข้าวเหนียวดำ หมายถึง ความรักที่หนักแน่น มั่นคง ความอดทนในการครองคู่
- ปิดท้ายด้วยการราดน้ำกะทิผสมน้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลมะพร้าว หมายถึง ความรักหวานชื่น สดชื่นในดวงจิต
วิธีการกินสี่ถ้วย
การกินขนมสี่ถ้วยของคนโบราณ จะมีขั้นตอนการกินง่าย ๆ ด้วยการกินแบบรวมมิตร คือ หยิบข้าวเหนียวดำลงใส่ถ้วย ตามด้วยลอดช่อง เม็ดแมงลัก แล้วราดด้วยน้ำกะทิผสมน้ำตาลโตนด โรยด้วยข้าวตอก แล้วจึงกิน จะได้ความหอมหวาน อร่อยละมุนลิ้น และแฝงไปด้วยความหมายอันลึกซึ้ง จึงเหมาะที่จะเป็นขนมมงคลของคู่รัก หรือขนมงานแต่ง
การจะกินขนมสี่ถ้วย จะยกขึ้นตั้งโต๊ะเป็นสำรับ โดยในสำรับอาจจะมีจัดวางขนมทั้งสี่ อาจมีน้ำเชื่อม อบดอกไม้หอม และน้ำกะทิอบควันเทียน สามารถตักราดแบบไหนก็ได้แล้วแต่ความชอบของคนกิน
จากการสื่อความหมายของขนมแต่ละชนิด สามารถใช้เป็นขนมในวันแห่งความรัก เทียบเท่า กับช็อกโกแลตได้เลยนะนี่ นอกจากความหอมหวาน รสชาติอร่อยชื่นใจแล้ว ต้องยกนิ้วให้กับความหมายของขนม แบบว่า ชนะเลิศ แซงขนมทุกชนิดไปเลยค่ะ