ยุคแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมในทุกกลุ่มอาชีพ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของความสะดวก รวดเร็ว และการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม สินค้ามีให้เลือกหลายหลาย อีกทั้งบริการจัดส่งถึงที่ นั่งสวย ๆ รออยู่ที่บ้านก็ได้รับของ ถูกใจผู้บริโภค และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ขาย เพราะจะมีร้านหรือไม่มีหน้าร้าน ก็ขายของได้ง่าย ๆ ไม่ต้องเปิดแผง ไม่ต้องเช่าที่ ทำให้แอปซื้อ-ขายออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้  

แม้ว่าการช้อปปิ้งออนไลน์จะได้รับความนิยมสูงขึ้น แต่ก็มีข้อกำจัดที่หลายคนก็เคยเจอ บางคนถึงจขั้นเข็ดขยาดและไม่ไว้ใจในการสั่งซื้อของออนไลน์อีก ข้อจำกัดที่ถือว่าเป็นข้อเสียการช้อปปิ้งออนไลน์ก็ว่าได้ นั่นคือ การได้ของไม่ตรงปก 

เชื่อว่าหลายคนซื้อของไม่ตรงปก โอนจ่ายเงินไป แต่ของที่ส่งมาไม่ตรงกับรูปที่ลงโฆษณา แล้วพอติดต่อแจ้งทางร้าน บ้างก็ไม่รับผิดชอบ หรือทำเรื่องคืนเงินให้ช้ากว่าจะได้แทบจะก้มกราบ และก็มีอีกหลายกรณีที่ติดต่อร้านไม่ได้อีกเลย แบบที่โอนเงินไปไม่ส่งของมา  ส่งสินค้าไม่ตรงปก จากนั้นก็ชิ่งหนีหาย ติดต่อไม่ได้อีกเลย เสมือนไม่เคยมีตัวตนมาก่อนในโลกใบนี้ 

สั่งซื้อสินค้าแล้วได้ของไม่ตรงปกแจ้งความได้ไหม

ปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคเจอกันบ่อย แต่ตอนนี้มีกฏหมายควบคุมการซื้อ-ขายผ่านออนไลน์ ได้ระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า หากได้ของไม่ตรงปก ฟ้องศาลได้ 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และใครที่ได้ของไม่ตรงปก แจ้งความได้เลย โดยไม่จำกัดวงเงิน แต่จะต้องมีการเก็บหลักฐานสั่งซื้อ-จ่ายเงิน ส่งศาล พร้อมติดตามความคืบหน้าได้ใน 12 ชั่วโมง เนื่องจากในขณะนี้ได้มีแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่งเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณา โดยมี ก.บ.ศ. (คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม) ได้ประกาศรองรับการจัดตั้ง และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาบังคับใข้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ดังนั้นผู้บริโภคทั้งหลายจะต้องติดตามข่าวสาร เพื่อจะได้ปกป้องและรักษาสิทธิ์ของตน 

ขั้นตอนการยื่นฟ้องคดีซื้อ-ขายออนไลน์ มีดังนี้ 

1. เข้าไปที่เว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/eFiling หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ของศาลแพ่ง 

  • สร้างบัญชีผู้ใช้งาน เลือกประเภทผู้ใช้งานสำหรับประชาชน ลงทะเบียนผู้ใช้งานในระบบ (สำหรับผู้ใช้งานใหม่) 
  • ล็อกอิน (Log in) เพื่อเข้าสู่ระบบยืนยันเงื่อนไขการใช้งาน 
  • เลือกเมนูคดีซื้อ-ขายออนไลน์ 
  • กรอกรายละเอียดคำฟ้อง (ประกอบด้วยข้อมูล โจทก์ จำเลย ข้อมูลคำฟ้อง) 
  • แนบเอกสารหรือหลักฐานการ ซื้อ-ขาย สินค้าชิ้นนั้น ๆ 
  • ข้อมูลความเสียหาย ราคา มูลเหตุการเรียกร้อง พยาน และหลักฐานอื่น ๆ ที่มีหรือที่สามารถหาได้ 

2. เมื่อเสร็จสิ้นในส่วนของการกรอกข้อมูลต่าง ๆ ระบบจะส่งคำฟ้องไปยังเจ้าพนักงานคดีในศาลแพ่ง เพื่อให้ทำการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงของการฟ้องครบถ้วนมีความครบถ้วน และเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่ เพื่อที่เจ้าพนักงานจะได้นำเสนอคำฟ้องส่งให้ศาลรับคำฟ้อง และส่งหมายเรียกจำเลยทางอีเมลต่อไป 

3. เมื่อศาลรับคำฟ้อง จะมีการส่งหมายเรียกไปทางอีเมลหรือ sms หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ แก่จำเลย 

4. ศาลจะดำเนินการคดีอย่างเต็มรูปแบบ อาทิ วันพิจารณาคดี การสืบพยาน การไกล่เกลี่ย ฯลฯ โดยผ่านช่องทางระบบออนไลน์ 

5. หากกรณีที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การผ่านระบบออนไลน์ และดำเนินการต่อสู้คดีในลำดับต่อไป ไม่ต่างจากการฟ้องร้องคดีทั่วไป 

สามารถยื่นฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ 24 ชั่วโมง ได้ทุกวัน ไม่กำจัดเวลา หากฟ้องหลังเวลา 16.30 น. หรือในช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์ จะนับวันทำการถัดไปให้ถือเป็นวันฟ้อง ซึ่งจะต้องมีหลักฐานและข้อมูลจริงที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเท่านั้น 

หลักฐานการยื่นฟ้องคดีซื้อ-ขายออนไลน์ ได้สินค้าไม่ตรงปก 

  • หลักฐานการสั่งซื้อสินค้า 
  • หลักฐานการชำระเงินของผู้ซื้อ
  • ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขาย
  • คลิปวิดีโอขณะเปิดกล่องสินค้า 

ซื้อของออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย 

  • เลือกซื้อกับร้านค้าที่น่าเชื่อถือ 
  • ตรวจสอบความปลอดภัยของเว็บไซต์ ให้ดูจาก URL ขึ้นต้นด้วย https:// คือ เว็บที่ปลอดภัย 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi สาธารณะ ขณะทำการสั่งซื้อของทางออนไลน์ เพื่อป้องกันการถ่ายข้อมูลจากมิจฉาชีพ 
  • เก็บหลักฐานการโอนเงิน หลักฐานการชำระเงินค่าสินค้าทุกครั้ง 
  • ตรวจสอบยอดเงินในบัญชีที่มีการผูกไว้กับแอปออนไลน์ต่าง ๆ หรือบัญชีที่มีการใช้ชำระค่าสินค้าออนไลน์ และรอบบิลบัตรเครดิต อยู่เสมอ 
  • เปลี่ยนพาสเวิร์ดต่อการสั่งซื้อบ่อย ๆ