มะเร็งปอดเกิดจากอะไร / ชนิดของมะเร็งปอด / ระยะของมะเร็งปอด / อาการของมะเร็งปอด / แนวทางการรักษาโรคมะเร็งปอด
โรคมะเร็งปอด คือ ชนิดมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลก เป็นโรคที่ผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มโรคมะเร็ง และยังเป็นอีกสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย (โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน5 ของผู้ป่วยมะเร็ง) ซึ่งจะพบมะเร็งปอดเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย อัตรารอดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งปอดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะโรค สุขภาพโดยรวม แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมักจะเสียชีวิตภายในปีแรก เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่มีอาการของโรคมะเร็งปอดแสดงออกให้เห็นในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณบ่งบอกรอยโรคเมื่อมะเร็งมีการเจริญเติบโตมากขึ้นแล้ว ทำให้มีการตรวจพบและได้รับการรักษาช้าเกินไป
มะเร็งปอด คือ โรคที่มีการเจริญของเซลล์เนื้อเยื่อปอดที่ควบคุมไม่ได้ จนนำไปสู่การแพร่กระจาย รุกรานและแทรกซีมเข้าในอวัยวะปอด โดยมะเร็งปอดส่วนใหญ่เป็นมะเร็งชนิดเยื่อบุที่มีการเจริญภายในเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว โดยมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่ปรากฏอาการให้เห็น แต่มักมีอาการเมื่อมะเร็งลุกลามเข้าสู่ช่วงระยะที่ 3 หรือบางรายก็เข้าสู่การเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ไปแล้ว
มะเร็งปอดเกิดจากอะไร
มะเร็งปอดเกิดจากกลุ่มเซลล์ผิดปกติในร่างกายได้การเจริญเติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนเกินที่จะควบคุม โดยไม่มีการแสดงอาการของโรคแต่อย่างใดในเริ่มแรก แต่สามารถพบเจอได้เมื่อก้อนเซลล์มีขนาดใหญ่หรือแผ่กระจายเป็นวงกว้าง
มะเร็งปอดมีกี่ชนิด
ชนิดมะเร็งปอดถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามขนาดของเซลล์ ความแตกต่างของขนาดเซลล์มีผลต่อแนวทางการรักษาที่ต่างกันออกไปเช่นกัน
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer , SCLC) พบได้ประมาณ 10-15% โดยเซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงและรวดเร็ว วิธีรักษาโรคมะเร็งปอดชนิด samll cell คือ การฉายรังสีหรือใช้ยารักษา จะไม่ใช้การผ่าตัดในการรักษา
- มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer , NSCLC) จะพบได้บ่อยถึง 85-90% มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก แต่จะมีการแพร่กระจายช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัดหากตรวจพบโรคแต่เนิ่น ๆ
มะเร็งปอดมีกี่ระยะ
1. มะเร็งปอดเซลล์เล็ก มี 2 ระยะ
- มะเร็งปอดระยะที่ 1 คือ ระยะจำกัด (Limited Stage) เป็นระยะที่พบเซลล์มะเร็งปอด 1 ข้าง และในต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวเท่านั้น
- มะเร็งปอดระยะที่ 2 คือ ระยะลุกลาม (Extensive Stage) เป็นระยะที่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังบริเวณหรืออวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย
2. มะเร็งปอดเซลล์ไม่เล็ก (NSCLC) มี 4 ระยะ
- มะเร็งปอดระยะที่ 1 จะพบว่ามีลักษณะก้อนบางอย่างอยู่ในปอด แต่จะไม่แสดงอาการของโรค
- มะเร็งปอดระยะที่ 2 คือ เซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด เป็นระยะที่ยังคงสามารถรักษามะเร็งปอดได้ด้วยการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออกจากร่างกาย
- มะเร็งปอดระยที่ 3 คือ ระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่กลีบปอดอื่น ๆ หรือเริ่มออกนอกบริเวณช่องอกที่เซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้นจุดแรก
- มะเร็งปอดระยะ 4 คือ เซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเป็นวงกว้าง เช่น ตับ ต่อมหมวกไต หรือ สมอง เป็นต้น
มะเร็งปอดมีอาการอย่างไร
ส่วนใหญ่มะเร็งปอดอาการเริ่มแรกจะไม่มีให้เห็น เนื่องจากโรคมะเร็งปอดอาการเริ่มต้นมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคชนิดอื่น เช่น การติดเชื้อเนื่องจากการสูบบุหรี่จัด หรือสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน ซึ่งส่วนมากจะมีอาการโรคให้เห็นเมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว โดยอาการมะเร็งปอดที่พบบ่อย ได้แก่
- ไอเรื้อรัง (ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ)
- ไอมีเลือดปน
- เจ็บหน้าอกบ่อย หรือเจ็บหน้าอกตลอดเวลา
- หายใจสั้น
- หายใจมีเสียงหวีด
- เสียงแหบบ่อย ๆ (มะเร็งลุกลามไปยังกล่องเสียงป
- ติดเชื้อในปอดบ่อย ๆ เช่น ปอดบวม
- มักจะกลืนลำบาก (หลอดอาหารถูกกด)
- เหนื่อยง่าย อ่อนแรง หรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด
- X-Ray และ CT scan ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- MRI คือ ตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อหาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในปอด
- Positron Emission Tomography scan หรือ PET scan คือ การฉีดโมเลกุลสารกัมมันตรภาพรังสีรวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เพื่อตรวจจับหาเซลล์ผิดปกติ เนื่องจากเซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมน้ำตาลเป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วกว่าเซลล์ปกติ ทำให้สามารถแยกความแตกต่างได้จากการเรืองแสงของเซลล์มะเร็ง
- Biopsy คือ การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์
- Mediastinoscopy คือ การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง
- Thoracentesis คือ การใช้เข็มเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดแทงผ่านผนังทรวงอก
มะเร็งปอดรักษาอย่างไร
1. การรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (SCLC)
แพทย์จะทำการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กด้วยเคมีบำบัด เนื่องจากเซลล์มะเร็งชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และทำการฉายแสงควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งยังไม่มีการแพร่กระจาย
2. การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (SCLC)
- รักษาด้วยการผ่าตัด การฉายแสง หรือเคมีบำบัด ในผู้ป่วยที่ระยะโรคยังไม่มีการแพร่กระจาย
- การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (targeted therapy) ตามระยะอาการโรค หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็ง ส่วนในผู้ป่วยที่ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมากนัก หรือยังไม่มีการกลายพันธุ์ของยีน จะได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งปอด
- การสูบบุหรี่ : ผู้ที่สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ถึง 10% ของผู้ไม่สูบบุหรี่
- ควันบุหรี่ : แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เอง แต่การได้รับควันบุหรี่จากการสูดหายใจเข้าไปก็ทำให้มีสารพิษตกค้าง และก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน
- ทำงานหรืออาศัยในแหล่งอุตสาหกรรม : เพราะระบบอุตสาหกรรมมักจะมีสารก่อมะเร็งเป็นส่วนใหญ่ เช่น โครเมียม นิกเกิล แร่เรดอน แร่ใยหิน เป็นต้น
- สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ฝุ่น PM 2.5 : จากงานวิจัยพบว่า การสูดหายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดได้สูงถึง 2 เท่า
- พันธุกรรม : อันที่จริงโรคมะเร็งปอดไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่หากพบว่ามีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อย สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดได้เช่นกัน
ดังนั้นหากคิดว่าตนเองอาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ควรเข้าตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อจะได้ป้องกัน หรือตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที โรคมะเร็งปอดเป็นโรคอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ถ้าพบเจอโรคก่อน รักษาทัน ลดการสูญเสีย