ขนมหวานเย็นชื่นใจ สู้อากาศร้อน ๆ ที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ของโปรดสมัยวัยเด็ก และไม่ว่ารุ่นไหน ก็คงต้องนึกถึง น้ำแข็งไส เกล็ดน้ำแข็งที่เกิดจากการไสก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ในอดีต ก่อนจะพัฒนามาใช้เครื่อมือหมุน ได้เกล็ดน้ำแข็งละมุนลิ้น ราดด้วยน้ำหวานหลากสีและนมข้นหวาน โรยท็อปปิ้งด้วยข้าวเหนียว ฟักทองเชื่อม ลูกชิด ลูกจาก และขนมต่าง ๆ กินทีไร หวานฉ่ำ ฟินเฟ่อ ช่วยดับร้อน แก้กระหายไปได้ช่วงขณะหนึ่งเลยทีเดียว
ในปัจจุบันก็ยังคงหาซื้อน้ำแข็งไสได้ไม่ยากนัก แถมมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น ทั้งรสชาติ และตัวท็อปปิ้ง เช่น รสชาไทย ชาเขียว ขนมปังแท่ง โอริโอ้ ไข่มุก หรือเม็ดบุก ซึ่งขนมหวานชนิดนี้ คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อ น้ำแข็งไส แต่ก็มีผิดเพี้ยนเขียนเป็น น้ำแข็งใส เพราะเข้าใจว่า ชื่อมาจากความใสของน้ำแข็ง แต่ที่จริงยังมีอีกชื่อที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยิน คือ “จ้ำบ๊ะ” บางคนอาจแปลกใจ ทำไมจึงชื่อ จ้ำบ๊ะ ระบำเปลือย หรือการเต้นรื่นเริงไม่ใช่หรือ เคยสงสัยและร้องเพลงเล่น ขำ ๆ ในสมัยเด็ก แต่ไม่ได้ติดใจถึงที่มาของชื่อจ้ำบ๊ะ แต่วันนี้เราจะขอชวนคนรักน้ำแข็งไส ไปเปิดเบื้องหลังถึงที่มาของ น้ำแข็งหวาน ออเดอร์ดับร้อนที่ว่านี้กันดีกว่า
น้ำแข็งเข้ามาในไทยได้อย่างไร
มีการนำ น้ำแข็ง เข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2400 หรือเมื่อประมาณ 160 ปีก่อน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยบรรทุกใส่หีบไม้มากับเรื่อกลไฟเจ้าพระยา ซึ่งในสมัยนั้น น้ำแข็ง ถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ของผู้คน และยังไม่แพร่หลาย จึงไม่เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นาย เลิศ เศรษฐบุตร ได้ริเริ่มก่อตั้ง โรงน้ำแข็งสยาม ตั้งอยู่ในย่านเจริญกรุง (กรุงเทพฯ) ทำให้น้ำแข็งเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเกิดวัฒนธรรมการนำน้ำแข็งมาทำเป็นของกินในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะของหวาน ที่มักจะใช้น้ำแข็งเป็นส่วนประกอบ เช่น ทับทิมกรอบ ลอดช่อง ซ่าหริ่ม รวมไปถึง การนำไปทำเป็น น้ำแข็งไสที่กินคู่กับน้ำหวานและนมข้น
ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่า น้ำแข็งไสไปเกี่ยวข้องกับการเต้นจ้ำบ๊ะได้อย่างไร แต่มีการสันนิษฐานว่า มักมีการขายน้ำแข็งไสตามงานรื่นเริง โดยเฉพาะงานที่มีการเต้นจ้ำบ๊ะ ทำให้บางคนเรียกน้ำแข็งไส ว่า ขนมจ้ำบ๊ะ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น
ทำไมเรียก “น้ำแข็งไส” และที่ถูกต้องควรเขียนว่า น้ำแข็งไส หรือ น้ำแข็งใส
เนื่องจากวิธีการทำน้ำแข็งไส เป็นการไสน้ำแข็ง คือ การดันก้อนน้ำแข็งไปบนเครื่องไส ซึ่งเป็นม้าไม้ 2 ขาเตี้ย ๆ ตรงกลางมีใบกบฝังจากด้านล่าง ทำให้ด้านคมอยู่ด้านบน เพื่อไสน้ำแข็งให้เป็นเกล็ดฝอย จึงเป็นที่มาของการเรียก น้ำแข็งไส ไม่ใช่ น้ำแข็งใส ที่มักถูกเข้าใจผิดและเรียกผิดตาม ๆ กันมา
ต้นกำเนิดของขนมจ้ำบ๊ะ วิธีทำ และต้นตำรับ
จ้ำบ๊ะเป็นของหวานโบราณอีกชนิดหนึ่ง ที่มีต้นกำเนิดมาจากเพชรบุรี ซึ่งมีมานานไม่น้อยกว่า 50 ปี โดยชาวจีนในจังหวัดเพชรบุรีที่มีอาชีพขายปาท่องโก๋ ไม่อยากให้ปาท่องโก๋เหลือ จึงนำปาท่องโก๋ที่มักจะกินคู่กับกาแฟในตอนเช้ามาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วทอดจนกรอบให้หายเหนียว (ขนมปังหัวกะโหลก) จากนั้นนำไปราดน้ำแข็ง น้ำหวาน และนมข้นหวาน จนภายหลังได้มีการแพร่กระจายไปจังหวัดอื่น ๆ มีการใส่ไส้ต่าง ๆ เพิ่มเข้าไป เช่น มะพร้าว ข้าวเหนียว ลูกชิด ฟักทอง สับปะรด เป็นต้น โดยชื่อมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า “จัมบะ” แล้วเพี้ยนไปเป็น จ้ำบ๊ะ ในเวลาต่อมา ลักษณะของจ้ำบ๊ะหรือน้ำแข็งไสต้นตำรับ จะต้องเป็นน้ำแข็งที่ไสออกมาเป็นเกล็ด ไม่ใช่น้ำแข็งโม่ละเอียดอย่างที่บางร้านทำขาย
ชื่อน้ำแข็งไสที่ไม่ได้มีแค่จ้ำบ๊ะ
น้ำแข็งไส ไม่ได้มีชื่อเรียกอื่นแค่จ้ำบ๊ะเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายชื่อให้เรียก เช่น น้ำแข็งซูน ในจังหวัดตรัง โดยคำว่า “ซูน” แปลว่า ไส ของทางภาคใต้ หรือ น้ำแข็งตูน ที่เรียกกันในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยคำว่า ตูน มีความหมายเดียวกันกับคำว่า ซูน นั่นเอง
ส่วนจังหวัดพะเยาในทางภาคเหนือ จะเรียกน้ำแข็งไส ว่า “น้ำแข็งเต๊ก” เป็นการปั้นน้ำแข็งไสให้เป็นแท่ง แล้วราดด้วยน้ำแดงและนมข้นหวาน แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาใส่ถ้วย และเติมเครื่องต่าง ๆ ลงไปด้วย เช่น ฟักทอง ลูกชิด ถั่วแดง เป็นต้น ส่วนในทางภาคอีสาน เช่น จังหวัดมหาสารคาม เรียกน้ำแข็งไส ว่า น้ำแข็งกด ในขณะที่จังหวัดราชบุรีจะเรียกน้ำแข็งไสว่า น้ำแข็งเกล็ดราดน้ำแดง หรือ น้ำแดงราดขนมปัง
สรุป : สาเหตุของการเรียกน้ำแข็งไสว่าจ้ำบ๊ะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไร และทำไมจึงเรียกเช่นนั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด นอกจากข้อสันนิษฐาน ซึ่งอาจใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกว่าอย่างไร หรือความเป็นมาของน้ำแข็งไสเกิดจากอะไรก็ตาม น้ำแข็งไส หรือ น้อง จ้ำบ๊ะ ก็ยังคงเป็นขนมหวานที่ไม่ได้สูญหายไปไหน สามารถหาทานได้ในประเทศไทย และยังคงเป็นขนมหวานขวัญใจของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว รวมไปถึงช่วงหน้าร้อน “จ้ำบ๊ะ” จัดว่าเป็นขนมหวานคลายร้อนได้อย่างดี แต่ควรทานแต่พอดี เพราะถึงจะเป็นเมนูช่วยดับร้อนได้ดี แต่ก็ยังมีความหวานจากนมข้นหวานและน้ำหวานหลากสี หากทานมาก ๆ อาจทำให้ติดหวานจนก่อโรคต่าง ๆ ตามมาได้ค่ะ