ปัญหาสำหรับการซื้อขายออนไลน์ที่มักจะเจอกันได้บ่อย คือ ปัญหาการโกง ไม่ว่าจะปัญหาจากการได้ของไม่ตรงปก จ่ายเงินแล้วแต่ร้านไม่ส่งของ ฯลฯ … แต่ไม่ใช่แค่ฝั่งผู้บริโภคเท่านั้นที่ต้องเจอกับปัญหาการโกง ทางฝั่งร้านค้าเองก็ประสบกับปัญหาการโกงไม่ต่างกัน อย่างเช่น ลูกค้าโอนสลิปปลอม
พ่อค้าแม่ค้าและผู้ที่สนใจจะผันตัวมาขายของออนไลน์ทุกท่าน บทความนี้จะพาท่านเข้าสู่วิธีการเช็คสลิปปลอม เพื่อจะได้รู้เท่าทัน ไม่ต้องมานั่งขาดทุน กำไรหาย และเสียความรู้สึก หากพร้อมแล้ว เราไปดูการจับไต๋การปลอมสลิปกันเลย
สลิปปลอมคืออะไร
การทำธุรกรรมโอนเงินผ่านแแอปพลิเคชันของธนคารทั่วไปนั้น ทางธนาคารจะมีการบันทึกสลิปรายละเอียดการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบหากเกิดข้อผิดพลาด โดยจะมีการระบุดังนี้
- ชื่อผู้รับ / ผู้ส่ง
- วัน เดือน ปี เวลา
- จำนวนเงิน
- QR Code
ในขณะที่สลิปปลอมจะมีการใช้ภาพสลิปมาดัดแปลงในการทำซ้ำ ด้วยการใช้แอปแต่งรูปภาพบนสมาร์ทโฟนโดยไม่ต้องใช้เว็บปลอมสลิป
วิธีเช็คสลิปปลอม

หากจะใช้วิธีสังเกตสลิปปลอมด้วยตาเปล่า สามารถทำได้ดังนี้
- ตรวจสลิปปลอมจากตัวหนังสือบนสลิป ความหนา-บางของตัวหนังสือ และประเภทของตัวหนังสือบนสลิปโอนเงิน ซึ่งปกติแล้วตัวหนังสือจะต้องเป็นฟรอนต์ประเภทเดียวกัน สีเหมือนกัน
- นำไปเปรียบเทียบกับสลิปเงินเก่า ๆ เพื่อหาจุดที่แตกต่าง
การเช็คสลิปออนไลน์ด้วยแอพเช็คสลิป หรือ QR Code ของธนาคารโดยตรง ซึ่งมีขั้นตอนการเช็คสลิปง่าย ๆ ที่พ่อค้าแม่ค้าสามารถตรวจสอบเองได้ดังนี้
- เข้าสู่แอปฯ ของธนาคารนั้น ๆ
- หาฟีเจอร์ “Scan”
- สแกน QR Code ของสลิปที่สงสัยเป็นสลิปปลอม
- หากสลิปเป็นของจริง จะมีรายละเอียดของการโอนเงินขึ้นให้ตรวจสอบ แต่ถ้าเป็นสลิปที่มีการปลอมแปลง ระบบจะขึ้นข้อความ “ขออภัย รูปแบบรหัส QR ไม่ถูกต้อง”

อีกวิธีป้องกันการถูกหลอกจากสลิปปลอมที่คนขายของออนไลน์สามารถทำได้คือ เปิดใช้แอปบริการแจ้งเตือนจากธนาคารเมื่อได้รับเงินโอนเข้า โดยแอปฯจะทำหน้าที่ส่งข้อความเพื่อแจ้งเตือนว่าได้รับเงินโอนจากใคร เป็นจำนวนเงินเท่าไร โดยจะมีการระบุวันที่และเวลาการโอน จะได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปเทียบกับสลิปที่ลูกค้าส่งมาให้ว่าตรงกันหรือไม่ ทำให้เช็คได้ว่าสลิปจริงหรือสลิปปลอม
ได้รับสลิปปลอม แจ้งความได้ไหม
การปลอมแปลงสลิปการโอนเงิน หรือการส่งสลิปปลอมเพื่อหลอกให้คนขายส่งของให้ ถือว่ามีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร จากมาตรา 246 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เติม หรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารฉบับจริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หากกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นได้กระทำความผิดปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหาย แก่ผู้ใดผู้หนึ่งหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
มาตรา 269/1 ผู้ใดทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมขึ้นทั้งฉบับ หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์จริงเพื่อใช้ประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท

ดังนั้น หากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ท่านไหนที่ได้รับสลิปปลอม หรือเข้าข่ายถูกหลอกให้ส่งของด้วยการส่งสลิปปลอมมาให้ ให้เก็บหลักฐานทั้งหมดที่มี ทั้งการแชทสนทนา รูปภาพสลิป การติดต่อทุกช่องทาง แล้วนำไปแจ้งความได้ทันที